วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : มาเปลี่ยนความฝันให้เป็นความจริง เพื่อประชาชน

 




สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : มาเปลี่ยนความฝันให้เป็นความจริง เพื่อประชาชน

 

ทุกคนมีความฝัน ผมก็มีความฝัน ตอนที่ผมยังเด็ก ผมฝันที่จะเป็นหมอ แต่หลังเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ความฝันของผมก็เปลี่ยนไป ผมฝันอยากเห็นเพื่อนและผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายที่เสียชีวิตไป ยังคงมีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความเสมอภาค เสรีภาพและภราดรภาพ ผมฝันว่าเพื่อนร่วมสังคมนี้จะมีชีวิตที่ดีและสามารถสร้างความฝันของตัวเองให้สำเร็จได้ ดังนั้น เมื่อผมมีโอกาสมาเป็นรัฐมนตรี ผมจึงทำตามความฝันด้วยการแสดงบทบาทของรัฐมนตรี เพื่อสร้างความสุขสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับคนไทย

 

แน่นอนว่า แต่ละคนย่อมฝันไม่เหมือนกัน

 

พ่อที่ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดน้ำแล้วลูกสาววัยห้าขวบกระโดดน้ำตามลงไปด้วย ความฝันของเขาก็เพียงอยากมีชีวิตอยู่อย่างไม่อยากลำบากจนเกินไป ไม่ต้องตกงานและมีรายได้พอประทังชีวิต

 

ความฝันของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคโควิดกลางท้องถนน เขาฝันเพียงว่า มีโอกาสได้ตรวจเขื้อไวรัส มีโอกาสได้เตียงในการรักษาพยาบาล มีโอกาสได้ยาโดยเร็วเพื่อให้เขาพ้นจากความตาย

 

ถามหน่อยเถิด ความฝันเหล่านี้มันมากเกินไปหรือ ถ้าการเมืองดี ในสังคมที่ดี นี้คือสิทธิที่พึงมีพึงได้ของประชาชน

 

ความฝันของคนเรามี 2 แบบที่แตกต่างกัน แบบแรกคือความฝันเพื่ออนาคตที่สดใสของตนเอง มีหน้าที่การงานดี มีบ้านอยู่ มีรถขับ แบบที่สองคือความฝันเพื่ออนาคตที่งดงามร่วมกันของเพื่อนมนุษย์

 

ความฝันเพื่ออนาคตของตนเองต้องไตร่ตรองและวางแผน ความฝันแบบนี้ต้องใช้สมอง แต่ความฝันเพื่ออนาคตร่วมกันของเพื่อนมนุษย์ความฝันแบบนี้ ต้องมีความรัก มีศรัทธาและมุ่งมั่น ความฝันแบบนึ้ต้องใช้หัวใจ

 

ผมผ่านพบคนที่ใช้หัวใจฝันมาหลายคน

 

ผมเคยถามคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ว่า ชีวิตนี้พี่มีความฝันอะไรบ้างที่ยังไม่ได้ทำ และอยากทำให้สำเร็จ คุณหมอสงวนบอกผมว่าความฝันของเขาคือการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหน้าให้กับคนไทย ถึงวันนี้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคได้เปลี่ยนชีวิตคนไทยไปกว่าสี่สิบล้านคน และส่งต่อความฝันไปถึงคนทั้งโลกอีกนับพันล้านคน

 

 

ผมเคยถามเรื่องความฝันกับดอกเตอร์ทักษิณชินวัตรว่า ทำไมคนที่เป็นมหาเศรษฐีถึงมาทำงานการเมือง ดอกเตอร์ทักษิณบอกผมว่า เขามีโอกาสในชีวิตที่สร้างตัวเองให้มีความสุขได้แล้ว ก็อยากยื่นโอกาสเช่นนี้ให้กับคนอื่นต่อไป ดังนั้นจากมหาเศรษฐีที่เคยแต่ดื่มไวน์ กินสเต็กเนื้อดีดี เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีจึงไม่เพียงแต่ตาดูดาว แต่เท้าต้องติดดิน กินคั่วแมงกุดจี่ กินทอดแมงกีนูน

 

ดังนั้น แม้ความฝันของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป แต่ความฝันที่ใช้หัวใจ ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนส่วนใหญ่ไปตลอดกาล

 

 

น่าเสียดาย ความฝันที่กลายเป็นความจริงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ต้องสะดุดหยุดลงด้วยเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จากวันนั้นประเทศไทยก็จมดิ่งลงสู่หลุมดำไม่เคยผงาดขึ้นมาได้อีกเลย

 

เจ็ดปีที่ผ่านมา ก็เป็นเวลาที่ความทุกข์ความมืดมนซ้ำเติมคนไทยทุกคนอีกครั้ง

 

วันนี้เราจะรวบรวมความฝันของทุกคนกลับมาใหม่ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่สืบทอดเจตนารมณ์มาจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน และผ่านร้อนผ่านหนาวล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด

 

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งนี้เป็นเพราะถ้าพรรคเพื่อไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกระทั่งตัวเองได้แล้วก็ย่อมไม่สามารถไปซ่อมหรือสร้างเพื่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศได้

 

วันนี้จึงเป็นการเริ่มต้นครั้งใหม่ที่รวบรวมพลังปัญญาของทุกคนที่มีอุดมการณ์เพื่อประชาชนเหมือนกันเพื่อปรับเปลี่ยนสร้างใหม่ให้พรรคเพื่อไทยมีศักยภาพในการกลับมาสร้างฝันยิ่งใหญ่ให้ทุกคนอีกครั้ง

 

เรามองว่า เพื่อรับมือวิกฤตต่างๆที่รออยู่ข้างหน้า ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดที่เรามีอยู่คือ “คน” ถ้าคนไทยมีปัญญา มีสุขภาพดี มีโอกาสในการสร้างรายได้อย่างเท่าเทียมกัน ประเทศไทยจะสามารถก้าวข้ามทุกวิกฤตได้อย่างแน่นอน

 

ประชาชนจึงต้องได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและปัญญาตลอดชีวิต ประชาชนจึงต้องได้รับโอกาสในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือกล้าลงมือทำความฝันโดยไม่กลัวล้มเหลวเพราะมีหลักประกันรายได้พื้นฐาน ประชาชนจึงต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ล้มป่วยและตายด้วยโรคที่ป้องกันและควบคุมได้

 

ความฝันเดิมของผมที่เริ่มต้นเมื่อ 20 ปีที่แล้วคือการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 

มาถึงวันนี้ มีคนถามผมว่าเรื่องการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังมีภารกิจที่ค้างอยู่และจะต้องทำต่ออีกไหม

 

ผมตอบได้ทันทีว่า ยังมีเรื่องสำคัญที่ต้องทำอีกมาก เพราะเมื่อผ่านมา 20 ปี มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพที่เราสามารถนำมาพัฒนาคุณภาพการบริการประชาชน อีกทั้งบทเรียนจากโควิดทำให้เราเห็นจุดอ่อนในระบบบริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร

 

 

ผมขอเริ่มต้นที่เรื่องการการกระจายอำนาจและการกระจายทรัพยากรทางสาธารณสุขที่ยังไปไม่ได้ไกลอย่างที่ควรจะเป็นทั้งๆที่เทคโนโลยีดิจิตอลเอื้ออำนวย การพัฒนาคุณภาพของการรักษาพยาบาลใกล้บ้านยังไม่เกิดขึ้น

 

วันนี้เราจึงเห็นคนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้สูงอายุต้องเข้าคิวรอเจาะเลือดที่โรงพยาบาลใหญ่ตั้งแต่ตีห้า แล้วรอหมอมาตรวจตอน 9 โมงเช้า ทั้งที่สามารถเจาะเลือดที่คลินิกเครือข่ายใกล้บ้านได้

 

เราจึงเห็นผู้ป่วยจำนวนมากที่แม้อาการคงที่แต่ต้องเดินทางไกลเพื่อมารอรับยาทุกหนึ่งหรือสองเดือนทั้งที่สามารถรับยาจากเภสัชกรในร้านขายยาใกล้บ้าน

 

เราเห็นผู้ป่วยจำนวนมากที่ถูกส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ ต้องนำกระดาษใบส่งต่อมายื่นให้โรงพยาบาลปลายทางทั้งที่วันนี้เรามีเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลสุขภาพอย่างปลอดภัยบนคลาวด์ได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของผู้ป่วย

 

เราสามารถนำการแพทย์ทางไกลหรือเทเลเมดิซีนมาใช้ในการให้คำปรึกษาเพื่อดูแลผู้ป่วยด้วยโรคพื้นฐานที่ไม่ซับซ้อนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลมาถึงโรงพยาบาลอำเภอหรือโรงพยาบาลจังหวัด

 

เราสามารถใช้ระบบข้อมูลอัจฉริยะ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งโดยไม่จำเป็นต้องเรียกหาข้อมูลที่เป็นกระดาษอีกต่อไป

 

ในระดับประเทศ เราต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ เพื่อสร้างเครือข่ายของระบบบริการสาธารณสุขครบวงจรที่เริ่มจากโรงพยาบาลตำบลใกล้บ้าน ต่อเชื่อมกับโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ที่มีศักยภาพเท่าโรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ ทั้งหมดนี้ภายในรัศมีไม่เกิน 100 กิโลเมตร และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามารักษาในกรุงเทพมหานครอีก

 

ในทางกลับกัน กรุงเทพมหานครมีปัญหาแตกต่างออกไป เมื่อเกิดการระบาดของโควิดในกรุงเทพมหานคร พบว่า ผู้ป่วยโควิดไม่สามารถเข้าถึงการบริการตรวจรักษาพยาบาลเบื้องต้น เพราะไม่มีระบบการรักษาพยาบาลแบบปฐมภูมิที่สมบูรณ์อยู่ในกรุงเทพมหานคร ถ้าเปรียบเทียบกับต่างจังหวัด 50 เขตของกรุงเทพมหานครคือ 50 อำเภอ และทุกเขตต้องมีโรงพยาบาลขนาด 100 เตียงเช่นเดียวกับในต่างจังหวัด

 

เราควรเริ่มต้นกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารโรงพยาบาลในรูปแบบองค์การมหาชน ส่วนด้านการป้องกันและควบคุมโรค โดยเฉพาะโรคโควิด นอกจากการเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันป่วยและตายแล้ว เราต้องเร่งพัฒนาระบบการตรวจคัดกรองด้วยเทคโนโลยีล้ำยุคเช่น DNA Nudge และระบบ AI ปัญญาประดิษฐ์ต่อยอดจากฐานข้อมูลดิจิตอลเพื่อใช้เป็นเครื่องมือของนักระบาดวิทยาและ อสม.

 

ปัจจุบัน ความก้าวหน้าของการดูแลรักษาผู้ป่วยเรื้อรังทั้งโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่ต้องพึ่งพายา หรือใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์แม่นยำมารักษาที่สาเหตุต้นตอ

 

อย่างไรก็ตาม ความฝันทั้งหมดนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าเราไม่มีรัฐบาลที่มาจากประชาชน รัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

 

ดังนั้น เราทุกคนต้องช่วยกันผลักดันความฝันของเราที่เคยร่วมฝันกันไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วอีกครั้ง

 

ถามตัวเองว่า ยังมีความฝันอะไรที่เรายังไม่ได้ทำและมาเปลี่ยนความฝันให้เป็นความจริงเพื่อประชาชน

1 ความคิดเห็น:

17 ปีความจริงปรากฏ! "ไพศาล พืชมงคล" ยืนยันชัดเจน "ทักษิณ ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์กรือเซะ!!!" ย้ำไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำ

  02 ธ.ค. 2564 - นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์เฟซบุ๊กในสหัวข้อ “ทักษิณไม...